โรคที่พบในประเทศไทยและยังคงเป็นปัญหาสุขภาพของคนไทยมาอย่างยาวนานและมีภาวะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากเซลล์สมองที่ถูกทำลาย ตามวัย พันธุกรรม อุบัติเหตุทางสมอง หรือผลข้างเคียงของโรค จากการศึกษายังพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลกเกือบ 50 ล้านคน ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่มีการวิจัย ว่าถ้ามีโรคความจำถดถอยจะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอัลไซเมอร์ตั้งแต่เนิ่นๆ ควรชะลอการเกิดโรคก่อนกำหนดได้บ้าง ดังนั้นการตรวจหาความเสี่ยงตั้งแต่อายุ 50 ปี ถือเป็นวิธีการป้องกันได้ดี
ถึงแม้ว่าโรคอัลไซเมอร์จะเกิดได้เฉพาะกับผู้สูงวัย แต่ยังมีอีกหนึ่งโรคทางสมองที่พบผู้ป่วยในวัยทำงานเป็นจำนวนมาก และมากกว่าร้อนละ 30 ของผู้ป่วยจะเกิดภาวะทุพพลภาพภายใน 20-25 ปี หลังจากเริ่มมีอาการ ซึ่งโรคดังกล่าวเรียกว่า “โรคเอ็มเอส” (MS) หรือ Multiple Sclerosis
พญ.จันจิรา สาธุกิจชัย อายุรแพทย์ด้านสมองและระบบประสาท อธิบายว่า โรคเอ็มเอส เป็นโรคที่เกิดจากการอักสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื้อว่าโรคนี้เกิดจากปัจจัยหลายๆอย่าง ทั้งทางสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัส ระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำเกินมาตรฐาน หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคเอ็มเอสจะอยู่ในช่วงอายุ 20-40 ปีซึ่งเป็นประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน และ 3ใน 4 ของผู้ป่วยโรคเอ็มเอสผลกระทบมาจากการทำงาน หากไม่เข้ารับการรักษา มากกว่าร้อยละ 30 จะเกิดภาวะทุพพลภาพ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า
ลักษณะอาการของโรคเอ็มเอส คือมักเกิดอาการผิดปกติกับระบบประสาทเป็นครั้งคราว ซึ่งสาเหตุมาจากการอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทด้านการมองเห็น ความเสียหายที่เกิดจากการถูกทำลายของเส้นประสาทจะส่งผลให้การส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทช้าลง หรือขัดขวางการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทส่วนกลางไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคอัมพาต อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดจากการกำเริบของโรคที่พบบ่อยคือ ปัญหาเกี่ยวกับการเดิน มีอาการเกร็งปวด ขากระตุก ปัสสาวะไม่ออก ชาแน่นรอบอก ปวดร้าวที่คอและกลางหลัง ปัญหาเรื่องการมองเห็น ตามัวกึ่งเฉียบพลัน เห็นภาพซ้อน สีผิดเพี้ยน อาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นเอง และกำเริบซ้ำในตำแหน่งเดิมเรื่อยๆ ดังนั้นจึงต้องหมั่นสังเกตตนเองเพราะอาการเหล่านี้เป็นอาการเบื้องต้นของโรคเอ็มเอส หากสังเกตอาการทางระบบประสาท แนะนำพบแพทย์ระบบประสาทร่วมด้วย ตรวจ MRI สมองและไขสันหลัง รวมทั้งตรวจเลือดและน้ำไขสันหลังได้ตั้งแต่ในระยะแรก หากได้รับการดูแลที่ถูกต้องสามารถลดภาวะการเกิดโรคเอ็มเอส และภาวะสมองเสื่อมในอนาคตได้
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคเอ็มเอสให้หายขาด ทำได้แค่เพียงชะลอการเกิดการทุพพลภาพหรือลดอาการกำเริบของโรคเอ็มเอสด้วยยา ทั้งแบบยาเม็ดและแบบฉีด ทั้งนี้โรคเอ็มเอสยังไม่มีสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ไม่สามารถป้องกันได้ จึงควรดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ เมื่อพบอาการผิดปกติกับร่างกายให้รีบพบแพทย์เพื่อป้องกันการเกิดโรคให้ไวที่สุด