ตรวจสอบเลขฮาลาล

“ฮาลาล” เป็นคำมาจากภาษาอารบิก หมายความว่า การผลิต การให้บริการ หรือการจำหน่ายใด ๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนา ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า “อาหารฮาลาล” คือ อาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพ ตามศาสนบัญญัตินั่นเอง เป็นการรับประกันว่า ชาวมุสลิมโดยทั่วไปสามารถบริโภคอาหาร หรืออุปโภคสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้โดยสนิทใจ เราสามารถสังเกตผลิตภัณฑ์ว่าเป็น “ฮาลาล” หรือไม่นั้น ได้จากการประทับตรา “ฮาลาล” ที่ข้างบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นสำคัญ

“เครื่องหมายฮาลาล” คือเครื่องหมายที่คณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่าง ๆ ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการทำการประทับ หรือแสดงลงบนสลาก หรือผลิตภัณฑ์ หรือกิจการใด ๆ โดยใช้สัญญลักษณ์ที่เรียกว่า “ฮาลาล” ซึ่งเขียนเป็นภาษาอาหรับว่า ภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หลังกรอบเป็นลายเส้นแนวตั้ง ใต้กรอบภายในเส้นขนานมีคำว่า “สนง.คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” โดยเครื่องหมายดังกล่าวนี้ จะออกให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ฮาลาล และหรือเนื้อสัตว์ฮาลาลที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น

ความสำคัญและความหมายฮาลาล

มุสลิมมีความศรัทธาว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ นบีมุฮัมมัดเป็นผู้สื่อ (รอซูล) ของอัลลอฮฺ” และมุสลิมมีความเชื่ออย่างมั่นใจว่า อัลลอฮฺ คือผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งในจักรวาล ดังนั้น คำบัญชาของอัลลอฮฺ (อัล-กุรอาน) คำสอนและแบบอย่างของนบีมุฮัมมัด (ซุนนะห์) จึงเป็นเรื่องที่มุสลิมจะต้องปฏิบัติตามด้วยความจริงใจและจริงจัง กล่าวคือ ปฏิบัติในสิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล)และไม่ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นข้อห้าม (ฮารอม) ด้วยความเต็มใจและยินดี

ฮาลาล-ฮารอมในอิสลามจึงมิได้หมายความเพียงการบริโภคอาหารเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงวิถีการดำเนินชีวิตในทุกด้าน เพราะอิสลามคือระบอบแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์

หน้าที่ของผู้เชือดสัตว์ตามศาสนบัญญัติเพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่ฮาลาล มีดังนี้

  1. ต้องนับถือศาสนาอิสลาม
  2. สัตว์ที่จะเชือดนั้น ต้องเป็นสัตว์ที่รับประทานได้ตามหลักศาสนาอิสลาม
  3. ต้องไม่ปะปนสัตว์ที่จะเชือดกับสัตว์ต้องห้ามในระหว่างขนส่ง
  4. ต้องไม่ทารุณสัตว์ก่อนการเชือด ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชือดต้องมีความคม
  5. ให้ผู้เชือดกล่าวพระนามของพระผู้เป็นเจ้า ขณะเริ่มทำการเชือด โดยต้องเชือดในคราวเดียวกันให้แล้วเสร็จ โดยไม่ทรมานสัตว์
  6. ต้องเชือดให้หลอดลม หลอดอาหารและเส้นเลือดข้างลำคอของสัตว์ที่ถูกเชือด ขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง โดยสัตว์จะต้องตายเพราะการเชือดเท่านั้น สัตว์นั้นต้องตายสนิทเองก่อน จึงจะนำไปดำเนินการอย่างอื่นต่อได้

ผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 

  1. รักษาอุปกรณ์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้สะอาดถูกต้องตามศาสนบัญญัติ ตลอดจนไม่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวร่วมกับของต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ
  2. วัตถุดิบหลักในการผลิต ตลอดจนเครื่องปรุงอื่น ๆ ต้องระบุแหล่งที่มาอันน่าเชื่อถือได้ว่า “ฮาลาล” โดยไม่แปดเปื้อนกับสิ่งต้องห้าม
  3. วัตถุดิบที่ได้จากสัตว์ต่าง ๆ นั้น ต้องเป็นสัตว์ที่ศาสนาอิสลามอนุมัติ และหรือได้เชือดตามศาสนบัญญัติ
  4. เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการผลิต หรือปรุงผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ต้องเป็นมุสลิม
  5. ในระหว่างการขนย้าย ขนส่ง หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ต้องไม่ปะปนผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้น ต้องไม่ปะปนผลิตภัณฑ์ฮาลาลกับสิ่งต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ

เครื่องหมายฮาลาลที่ถูกต้องตามระบบการรับรองของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย 

  1. คำว่า “ฮาลาล” ภาษาอาหรับ ในสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งมีพื้นหลังเป็นแถบเส้นตรงแนวดิ่ง
  2. ชื่อองค์กรรับรอง – “สนง. คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” หรือ “The Central Islamic Committee of Thailand” หรือ เป็นภาษาอาหรับ (เป็นได้ทั้ง 3 ภาษา) ถ้าเป็น “สำนักจุฬาราชมนตรี” แสดงว่าเป็นเครื่องหมายฮาลาลที่ไม่ผ่านการตรวจรับรอง เนื่องจากทางสำนักจุฬาราชมนตรีได้มอบหน้าที่การตรวจรับรองฮาลาลแก่คณะ กรรมการกลางอิสลามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 แล้ว
  3. หมายเลขฮาลาลผลิตภัณฑ์ 12 หลัก ที่ได้จากการรับรองฮาลาล ถ้าเป็นตัวเลขในระบบเก่า (ซึ่งผ่านการตรวจรับรองเช่นเดียวกัน) จะใช้ลำดับที่ของบริษัท ตามด้วยปีที่เริ่มขอรับรอง “ที่ ฮ.ล. 025/2547” ในส่วนของเลข 12 หลักนั้น มีความหมายดังนี้ (ดูรูปประกอบ)เครื่องหมายฮาลาล

    ส่วนเรื่องสีของเครื่องหมายฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร ไม่มีผลใดๆ (สีเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ ขึ้นกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารนั้นๆ) เช่น อาจเป็นสีขาว, เขียว หรือแดง แต่ถ้าเงื่อนไขครบสามข้อข้างต้น ถือว่าถูกต้อง

    สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายฮาลาลกำกับ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่ม อาหารเสริม หรือเครื่องอุปโภค บริโภคต่างๆ สามารถเช็คเลขหมายฮาลาล ได้ที่ www.halal.co.th แม้ว่าผลิตภัณฑ์บางตัวอาจจะมีเลขหมายฮาลาลกำกับ แต่ผู้บริโภคควรเช็คเลขฮาลาลดูให้แน่ใจ เพราะยังมีผู้ผลิตไร้สามัญสำนึกบางราย แอบอ้างหรือปลอมแปลงเครื่องหมายฮาลาล เพื่อการค้า

[cv]