อย. ห่วงใยสุขภาพประชาชนในช่วงหน้าร้อน ขอให้ระมัดระวังการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะการบริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม ที่ผลิตและเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม เกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียนได้ แนะผู้บริโภคให้เลือกซื้อน้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม ที่มีภาชนะบรรจุที่สะอาดและปิดสนิท มีวิธีการขนส่งและเก็บรักษาที่เหมาะสม และมีฉลากแสดงรายละเอียดครบถ้วนเพื่อความปลอดภัย นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน ทำให้น้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม กลายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของผู้บริโภค เพื่อช่วยดับกระหายและคลายร้อน อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยและสุขภาวะที่ดีของผู้บริโภค ส้านักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการ กำกับดูแลและเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพราะหากขั้นตอนการผลิตและการเก็บรักษาที่ไม่ดี อาจเกิดการปนเปื้อนและการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์อย่างรวดเร็ว ซึ่งเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และมักพบบ่อยในช่วงหน้าร้อน ได้แก่ เชื้อซัลโมเนลล่า, วิบริโอ, อี.โคไล และสแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส เป็นต้น อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด อาการคลื่นไส้ อาเจียน และโรคอุจจาระร่วง ซึ่ง อย. มีความห่วงใยอย่างยิ่ง จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อน้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม ในช่วงหน้าร้อนเป็นพิเศษ โดยการเลือกซื้อน้ำดื่ม ควรเลือกภาชนะบรรจุที่สะอาดและปิดสนิทไม่รั่วซึมหรือมีรอยสกปรก ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้ ลักษณะของน้ำที่บรรจุอยู่ต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีสี กลิ่นรสที่ผิดปกติ โดยร้านค้าที่จำหน่ายต้องไม่วางน้ำดื่มตากแดด และไม่เก็บน้ำดื่มในที่ร้อน หรืออับชื้นเกินไป กรณีน้ำแข็ง ควรสังเกตรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน และต้องมีข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน โดยถุงที่ใช้บรรจุต้องสะอาด ปิดผนึกแน่นหนา ไม่ฉีกขาด และน้ำแข็งต้องใสสะอาด ไม่มีคราบ สี หรือกลิ่นที่ผิดปกติ ไม่มีฝุ่นผง หรือสิ่งแปลกปลอมในก้อนน้ำแข็ง นอกจากนี ผู้บริโภคควรสังเกตสถานที่เก็บและภาชนะที่บรรจุน้ำแข็ง ซึ่งต้องถูก สุขลักษณะ ไม่มีการใส่น้ำแข็งปนกับอาหารประเภทอื่น สำหรับไอศกรีม ภาชนะบรรจุต้องสะอาดและปิดสนิท ไม่ฉีกขาด สังเกตได้จากการที่ไม่มีไอศกรีมรั่วซึมออกมา และตัวไอศกรีมต้องไม่มีสี กลิ่น รส ที่ผิดปกติ และไม่เหลวหรือมีลักษณะ เหมือนเคยละลายแล้วมาก่อน
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากการเลือกซื้อน้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงรายละเอียดครบถ้วนและชัดเจน เช่น ชื่อที่ตั้งสถานที่ผลิต เครื่องหมาย อย. พร้อมเลขสารบบอาหาร 13 หลัก วันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน หาก อย. ตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะดำเนินการตามกฎหมาย โดยจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้บริโภค พบผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ ร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่พบปัญหา เพื่อ อย. และสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดจะร่วมมือกันเฝ้าระวังตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภค ทั่วประเทศ