ปัจจุบันตลาดอาหารเสริมประเภทกลุ่มยาลดความอ้วน มีวางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ทั้งแบรนด์ดารา เซเลป หลายคนจึงเลือกใช้เพื่อรีดน้ำหนักส่วนเกินออกจากร่างกาย เพราะเชื่อว่าช่วยให้น้ำหนักลดลงได้เร็ว ซึ่งจริง ๆ แล้วยาชนิดนี้มีทั้งคุณและโทษ จึงมีความจำเป็นที่ผู้คิดจะใช้ยาลดน้ำหนักต้องเรียนรู้เกี่ยวกับยาเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัย และการลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหากจะจำแนกประเภทของยาที่ใช้ลดน้ำหนัก แบ่งได้เป็น
- อาหารเสริม (Dietary Supplements) อาหารเสริมและสมุนไพรที่ใช้ในการลดน้ำหนัก จะมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถเผาผลาญได้ดีขึ้น แต่ไม่สามารถช่วยลดน้ำหนักได้โดยตรง อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาว่ายาเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพและปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งก่อนที่จะนำมาวางจำหน่ายได้ จะต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ยามีส่วนประกอบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ แต่ภายหลังพบว่าผู้ผลิตบางรายลักลอบใส่สารอันตรายที่ต้องควบคุมโดยแพทย์ เพื่อให้เห็นผลไว
- ยาลดความอยากอาหาร ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ เฟนเตอมีน (Phentermine),ไซบูทรามีน (Sibutramine) มีคุณสมบัติในการออกฤทธิ์กับประสาทส่วนกลาง ช่วยลดความอยากอาหาร เป็นยาที่ใช้ร่วมกับการออกกำลังกาย และควบคุมอาหารในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และภาวะคอเลสเตอรอลสูง โดยยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เพราะยามีลักษณะเป็นสารกระตุ้นคล้ายตัวยาแอมเฟตตามีน (Amphetamine) อีกทั้งยังจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ฉะนั้นในการใช้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
- ยาฮอร์โมนไทรอยด์ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะพร่องไทรอยด์ แพทย์จะสั่งใช้ยาฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานได้มากยิ่งขึ้น แต่ก็มีผลข้างเคียงมาก เพราะอาจทำให้น้ำหนักในส่วนของกล้ามเนื้อลดลงมากผิดปกติ และมีผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้
- ยาขับปัสสาวะ เป็นยาที่ช่วยลดน้ำหนักของน้ำในร่างกายโดยผ่านทางการปัสสาวะ แต่ไม่สามารถลดไขมันหรือแคลอรีในร่างกายได้ และอาจทำให้ร่างกายขาดเกลือแร่ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย อวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ออร์ลิสแตท (Orlistat) เป็นยาที่มีคุณสมบัติในการบล็อกไขมันจากอาหารที่รับประทานเข้าไปในร่างกาย ไม่ให้ร่างกายดูดซึมไขมันเหล่านั้นเข้าไปสะสมในร่างกายเพิ่ม ถือเป็นยาที่ช่วยในการลดน้ำหนักได้ และลดความเสี่ยงภาวะโยโย่ได้อีกด้วย แต่จะต้องใช้ร่วมกับการรับประทานอาหารที่ควบคุมแคลอรีด้วยจึงจะได้ผลดี ยาชนิดนี้สามารถใช้ได้ในผู้ใหญ่เท่านั้น
- ลอร์คาเซริน (Lorcaserin) เป็นยาที่ใช้ร่วมกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย โดยยาจะส่งผลต่อสัญญาณทางเคมีที่ควบคุมความอยากอาหาร ช่วยให้ผู้ที่ใช้ยานี้รู้สึกอิ่มเร็ว และรับประทานอาหารได้น้อยลง ในบางกรณียาลอร์คาเซรินก็มักใช้กับผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และภาวะคอเลสเตอรอลสูง
- เฟนเตอมีนและโทพิราเมท ชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Phentermine และ Topiramate-extended Release) เป็นยาที่มีส่วนประกอบของยา 2 ชนิดที่ใช้เพื่อควบคุมความอยากอาหาร โดยกลไกการทำงานของยาชนิดนี้จะส่งผลต่อสัญญาณทางเคมีในสมอง และระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ต้องใช้ร่วมกับการออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วย
- ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ยาชนิดนี้ไม่ใช่ยาลดน้ำหนัก แต่ช่วยลดผลข้างเคียงของยาชนิดอื่นต่อการทำงานของกระเพาะอาหาร ด้วยการลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้ผู้ใช้ยาลดความอ้วนเสี่ยงต่อโรคกระเพาะน้อยลง
- ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ โดยส่วนใหญ่แล้วยากลุ่มนี้จะช่วยรักษาโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจผิดจังหวะและโรคความดันโลหิตสูง แต่ที่นำมาใช้ร่วมกับยาลดความอ้วนก็เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดความอยากอาหารหรือยาฮอร์โมนไทรอยด์ แต่ก็มีผลข้างเคียง เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
- ยานอนหลับ ใช้เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในกลุ่มยาลดความอยากอาหารที่มีฤทธิ์กดประสาท แต่เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะหากใช้มากเกินไปอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อันตรายจากยาลดน้ำหนักที่ควรระวัง
การใช้ยาลดความอ้วนไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคนเสมอไป เพราะหากใช้อย่างไม่ระมัดระวังก็จะส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ ผลข้างเคียงที่มักพบในการใช้ยาลดความอ้วน ได้แก่
อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น
- ความดันโลหิตสูงขึ้นผิดปกติ
- นอนไม่หลับ
- วิตกกังวล
- ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
- มีอาการอ่อนแรง
- ลิ้นเปลี่ยนรส หรือรู้สึกถึงรสโลหะภายในปาก
- ปากแห้ง
- มีอาการชาตามผิวหนัง
- คลื่นไส้ ท้องเสีย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร
- เป็นตะคริวที่ท้อง
- มีปัญหาที่ตับ
ยาลดความอ้วน ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ?
วิธีที่ดีที่สุดในการใช้ยาลดความอ้วน คือ เมื่อตัดสินใจที่จะลดน้ำหนักด้วยการใช้ยา ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาและแนะนำจะดีที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ที่ต้องรับประทานยาอื่น ๆ ตามใบสั่งแพทย์ ควรให้แพทย์เป็นผู้อนุญาตใช้ยาลดความอ้วน เพราะการใช้ยาเองตามอำเภอใจจะส่งผลกระทบต่อคนที่ต้องรับประทานยาอื่น ๆ อยู่ และอาจยิ่งทำให้อาการป่วยที่เป็นก่อนหน้ารุนแรงขึ้น
ขณะเดียวกัน เมื่อแพทย์สั่งใช้ยาลดความอ้วนแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ใช้ยาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายให้มากขึ้น จากนั้นแพทย์และนักโภชนาการจะร่วมกันติดตามผลของผู้ใช้เพื่อดูผลสัมฤทธิ์ในการลดน้ำหนัก หากพบว่าผู้ใช้มีข้อจำกัดบางอย่างในการใช้ยา ทั้งตัวแพทย์และผู้ใช้อาจต้องปรึกษาเพื่อเปรียบเทียบกันระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ที่จะได้รับว่าคุ้มค่ากันหรือไม่
การรับประทานยาลดความอ้วนเพียงอย่างเดียวโดยไม่ออกกำลังกายหรือควบคุมอาหารอาจไม่สามารถช่วยให้ลดน้ำหนักได้เพราะยาชนิดนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดน้ำหนักโดยตรง แต่ต้องมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยจึงจะช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ นอกจากนี้ ในกรณีที่น้ำหนักเกินมาก ๆ จนทำให้รูปร่างเปลี่ยน การออกกำลังกายร่วมกับการใช้ยาลดความอ้วน จะช่วยให้รูปร่างกับมากระชับได้ไวขึ้นอีกด้วย
แม้ว่าการลดน้ำหนักด้วยยาลดความอ้วนจะเป็นวิธียอดนิยม แต่ผู้ใช้ก็ควรใช้ยาควบคู่กับวิธีอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้การลดน้ำหนักเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากสามารถลดน้ำหนักได้ตามเป้าหมายแล้ว ผู้ใช้ควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการหยุดยาและไม่ควรหยุดยาด้วยตนเอง เพราะยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างอันตราย โดยแพทย์อาจลดปริมาณยาหรือเปลี่ยนยาที่ใช้ และเพิ่มการออกกำลังกาย รวมถึงการควบคุมอาหารอย่างสม่ำเสมอให้มากขึ้นเพื่อป้องกันการกลับมาสู่ภาวะน้ำหนักเกินอีกครั้งในภายหลัง
ยาลดความอ้วน ถือเป็นเพียงตัวช่วยหนึ่งในการลดน้ำหนักเท่านั้น เพราะมีผลข้างเคียงมาก และต้องใช้ควบคู่กับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่สามารถช่วยให้ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักสามารถบรรลุเป้าหมายได้ด้วยการรับประทานยาเพียงอย่างเดียว ขณะที่ประสิทธิภาพของยาลดความอ้วนจะช่วยให้ลดน้ำหนักลงได้เพียง 5-10% ต่อปีเท่านั้น อีกทั้งยาลดความอ้วนที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องยังเป็นยาที่ใช้กับคนเฉพาะกลุ่มอีกด้วย โดยพิจารณาจากประวัติสุขภาพและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา หรือปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาลดความอ้วนร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยใช้อยู่
ทั้งนี้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่ายาลดความอ้วนสามารถใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งความจริงแล้วหากเป็นยาที่แพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย ก็จะใช้กับผู้ที่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยการควบคุมอาหาร หรือไม่สามารถออกกำลังกายเนื่องจากปัญหาสุขภาพ เช่น
ผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) สูงกว่าปกติและมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนโดยตรง ได้แก่ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง ภาวะคอเลสเตอรอลสูง โรคหัวใจ ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ซึ่งการลดน้ำหนักที่ดีที่สุด ยังคงเป็นการควบคุมอาหาร ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย นอกจากน้ำหนักจะลงแล้ว ยังทำให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย