วันนี้ (27 ส.ค. 61) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวกรณีมีการโฆษณาขายยาปลุกอารมณ์ทางเพศชื่อว่า Girly Sex ผ่านรับรองจาก อย. จำหน่ายทางออนไลน์ ว่า ขอชี้แจงว่าที่ผ่านมา อย.ไม่เคยอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาปลุกเซ็กซ์ และไม่เคยอนุญาตให้มีการโฆษณาขายทางออนไลน์แต่อย่างใด
ดังนั้น กรณีผลิตภัณฑ์ Girly Sex ถือเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทั้งนี้ จากการตรวจสอบส่วนที่ผู้ขายนำไปอ้างนั้น เป็นใบเสียภาษีนำเข้าสินค้าที่ออกโดยกรมศุลกากรมาแสดง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการผ่านการตรวจมาตรฐานจาก อย.ตามที่กล่าวอ้าง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผู้นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการไหวตัวทัน และปิดช่องทางการสื่อสารแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างร่วมมือกับตำรวจสืบสวนเพื่อนำเข้าสู่การดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ การโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เข้าข่ายเป็นยาตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ตามมาตรา 4 (4) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้าง หรือการกระทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา ดังนั้น ผู้นำเข้า ผู้ขาย มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งโฆษณาขายยาที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนี้ การกระทำผิดดังกล่าวยังเข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ซึ่งอยู่ระหว่างประสานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขอความร่วมมือในการระงับซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตแล้ว
“จากรายงานในปี 2561 ซึ่งยังไม่ถึงสิ้นปี มีการจับกุมผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายไปแล้วรวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่ผ่านมา อาจเพราะว่าคนขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้แล้วรายได้ดี ทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เราพบว่ายาปลุกเซ็กซ์จัดอยู่ในผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกจับกุมมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากกลุ่มที่อวดอ้างว่าช่วยในการลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ซึ่งยาปลุกเซ็กซ์จัดว่าเป็นอันตรายมาก เพราะมีผลต่อร่างกายหลายระบบ เช่น การทำงานของหัวใจ ซึ่งทำให้ตายได้ ส่วนอันดับ 3 คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างรักษาโรคเรื้อรังเช่นเบาหวาน ความดัน อัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลงเชื่อจนขาดการรักษาและโรครุนแรงขึ้น” นพ.สุรโชค กล่าว พร้อมย้ำว่า ส่วนยารักษาผู้มีปัญหาสมรรถภาพทางเพศนั้นมีจำหน่ายอยู่ แต่ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจ และสั่งจ่ายยาเหล่านั้นโดยแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น