เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินชื่อเสียงของยาสเตียรอยด์ในทางที่ไม่ดี จนเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนกลัว และปฏิเสธที่จะใช้ยานี้ แม้ว่ายาจะมีประโยชน์ทางการแพทย์ สามารถใช้ในโรคต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย โดยคำว่า “สเตียรอยด์” ในที่นี้ จะหมายถึงยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroid) ซึ่งออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ และฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน แม้ว่าสเตียรอยด์จะมีประโยชน์แต่ทางการแพทย์มักจะเลือกใช้สเตียรอยด์เป็นลำดับท้าย ๆ ในกรณีที่ไม่มียาที่รักษาอาการของโรคนั้นแล้ว หรืออาจใช้เพื่อการรักษาช่วงต้นที่เร่งด่วน เพื่อลดอาการฉับพลัน เพราะว่าผลข้างเคียงของตัวยามีมากและเป็นอันตราย ดังนั้น กฎหมายจึงควบคุมการใช้ยาที่มีส่วนผสมของ สเตียรอยด์อย่างเข้มงวด
ผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์จะแตกต่างกันไปตามรูปแบบที่ใช้ และระยะเวลาที่ใช้ ดังนี้
- ใช้ทาบริเวณภายนอก ทำให้ผิวหนังบางลง อาจมีผื่นแพ้แดงหรือสิวเห่อขึ้นขึ้นได้เมื่อใช้ติดต่อกันนานๆ หยุดใช้ไม่ได้ อาการเป็นหนักขึ้น
- ใช้หยอดตา อาจทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินหรือมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเมื่อใช้ติดต่อกันนานๆ
- ใช้รับประทาน
– ใช้ในระยะสั้น ทำให้ผู้ใช้เกิดอาการหน้าบวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ติดเชื้อได้ง่าย และมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต
– ใช้ในระยะยาว ทำให้อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง และกระดูกพรุนได้
เนื่องจากการใช้สเตียรอยด์สามารถบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็ว ผู้ใช้จึงมักรู้สึกพึงพอใจกับผลของยา ทำให้ผลิตภัณฑ์ปลอมต่าง ๆ ใส่สารนี้ลงไป เราจึงอาจได้รับอันตรายจากยาสเตียรอยด์โดยไม่รู้ตัว ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมักจะมีการโฆษณาอวดอ้างเกินจริง สถานที่ขายจะไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอน หรืออาจขายตามออนไลน์ และมักใช้เลขทะเบียน อย.ปลอม เราจึงควรมีวิจารณญาณในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และถ้าหากกำลังสงสัยว่าตนเองกำลังใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสเตียรอยด์อยู่ก็ไม่ควรหยุดยาเอง วิธีปฏิบัติที่แนะนำ คือ ให้พบแพทย์พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์ที่ตนเองใช้ไปด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้อง