ยาหยอดคังหลิน

อย.เตือน พบกลุ่มบุคคลโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพรยี่ห้อ “คังหลิน” ซึ่งใช้หยอดหู หยอดตา อ้างเป็นการตรวจโรคฟรี แต่สุดท้ายกลับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว  เมื่อตรวจสอบฉลากไม่พบข้อมูลชื่อที่อยู่ผู้ผลิต ไม่ระบุวันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุ  ทางเจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ และแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่เกี่ยวข้อง และหากพบการปลอมปนของสารอันตรายจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

เภสัชกรสมชาย ปรีชาทวีกิจ รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลวาริชภูมิ จ.สกลนครร่วมกับสถานีตำรวจภูธร  วาริชภูมิ ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียน พบกลุ่มบุคคลทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ คังหลิน (KungLin) ใช้ในการหยอดหู หยอดตา โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนและทีมวิจัยสมุนไพรของ    ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จึงนำสินค้ามาแนะนำและเพื่อเป็นการทำบุญตามโครงการวิจัยดังกล่าว และขอให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายให้ชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่อง หู ตา คอ จมูก เบาหวาน ภูมิแพ้ ความดัน และชาวบ้านที่ต้องการตรวจ ลงทะเบียนตรวจวินิจฉัยโรคฟรีแต่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคา 3,600 บาท พบว่าเป็นสมุนไพรจีน ฉลากระบุผู้จำหน่ายคือ  บริษัท กรีนนิซ เทคโนโลยี จำกัด จ.นครราชสีมา แต่ไม่พบข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ผู้ผลิต ไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอดูเอกสารเกี่ยวกับโครงการ ก็ไม่สามารถนำมาแสดงได้จึงเชิญตัวไปสถานีตำรวจเพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานี

           สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ระวัง อย่าได้หลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริงรักษาได้สารพัดโรค อาจทำให้ได้รับอันตรายและขาดโอกาสในการรักษาโรค ขอย้ำว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยา ไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรคแต่อย่างใด และหากนำไปใช้หยอดตา ตามที่โฆษณากล่าวอ้าง อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและตาบอดได้ ทั้งนี้หากพบ ความผิดปกติทางร่างกายเพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรค และก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง ขอให้ผู้บริโภคสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อ โดย อย.จะดำเนินคดีกับผู้โฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารอวดอ้างรักษาโรคซึ่งเป็นการโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมาย รวมไปถึงจะดำเนินการตรวจสอบกับผู้ผลิต

ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
รับตรวจสารอันตรายในยาสมุนไพร หากพบเห็นผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยหรือลอบใส่สารสเตียรอยด์ในสมุนไพร ส่งตรวจสารอันตรายได้ที่ : สสนส.สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมด้านสุขภาพ
รับตรวจสารอันตรายในอาหารเสริม
รับตรวจสารอันตรายในเครื่องสำอาง
รับตรวจสารอันตรายในเครื่องดื่ม
รับตรวจสารอันตรายในยาสมุนไพร
รับตรวจไซบูทรามีน
ร้องเรียนผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน

[cv]