เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊คจำนวนมาก โพสต์ขาย หัวเชื้อผิวขาว โดยมีรูป “หญิงแย้”เน็ตไอดอลสาวชื่อดังถือขวดผลิตภัณฑ์ พร้อมมีข้อความอวดอ้างสรรพคุณว่าผิวขาวขึ้นแน่นอนภายใน 3-7 วันในรูปเปลี่ยนผิวดำด้านเป็นผิวขาว ยิ่งใช้หลายขวดยิ่งขาวมากขึ้น มีการโชว์การทดลองว่าไม่มีสารปรอท ไม่พบความเป็นกรด และไม่มีสารไฮโรควิโนน ในหัวเชื้อผิวขาว มีเลขที่จดแจ้งของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ระบุ และว่าตัวหัวเชื้อผิวขาวมีส่วนประกอบของ คอลลาเจน กรดน้ำนม วิตามินซี แตงกวา มัลเบอรี่ อัลฟ่าอาบูติน และมีส่วนผสมหลักเป็น ทองคำ ซึ่งขายในราคาขวดละ 90 บาท
ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า หัวเชื้อผิวขาวตัวดังกล่าวจากการตรวจสอบพบว่ามีความผิดเข้าข่ายการโฆษณาเกินจริง ในกรณีที่มีการเขียนข้อความว่า สามารถทำให้ผิวขาวขึ้นโดยสามารถเปลี่ยนสภาพผิวได้จากเดิมอย่างผิดปกติ จากผิวดำกลายเป็นขาว และที่มีข้อความว่าสามารถขาวขึ้นได้ภายใน 3 วัน หรือ 7 วัน ถือว่าเป็นการโฆษณาเกินจริงอย่างแน่นอน เนื่องจากปกติแล้วไม่สามารถยับยั้งหรือเปลี่ยนแปลงการผลิต เม็ดสีเมลานิน จึงไม่สามารถทําให้สีผิวเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงเน็ตไอดอลชื่อดังที่มีรูปในการโฆษณาก็อาจจะมีความผิดฐานโฆษณาเกินจริงได้เช่นกัน ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ของเราอยู่ระหว่างดำเนินการแจ้งไปยังผู้โพสต์เพื่อระงับโฆษณาและดำเนินการแจ้งความผิด ซึ่งโฆษณามีความผิด ฐานเกินความจริงหรือก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมกับผู้บริโภค โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทนอกจากนี้จะมีการตรวจสอบไปยังบริษัทผู้ผลิตว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณาหรือไม่ด้วย
“ส่วนกรณีที่มีเลขจดแจ้งของทางอย.จากการตรวจสอบพบว่ามีการจดแจ้งจริง และในการจดแจ้งจะต้องระบุส่วนประกอบต่างๆ ที่ไม่เป็นอันตรายทางอย.จึงจะสามารถให้จดแจ้งได้ ในกรณีหัวเชื้อผิวขาวตัวนี้อาจจะต้องมีการให้เจ้าหน้าที่ลงไปเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบว่า มีการใส่สารตามที่จดแจ้งไว้หรือไม่ สารที่ทำให้ผิวขาวขึ้นอย่างผิดปกตินั้นก็มีสารประเภท ปรอท ซึ่งจะทำให้ผิวเกิดการแพ้ มีผื่นแดง เมื่อดูดซึมเข้าร่างกายมากๆ เป็นเวลานานทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ ตัวต่อมาคือสารไฮโรควิโนน ซึ่งจะทำให้ผิวเกิดจุดด่างขาว ใช้เป็นเวลานานจะทำให้เป็นฝ้าถาวร ต่อมาคือกรดวิตามินเอ ซึ่งจะทำให้ผิวอักเสบได้ สุดท้ายคือ สเตียรอยด์ ถือเป็นกลุ่มสารซึ่งอาจเป็นยาที่ต้องได้รับการอนุญาตใช้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะเป็นสารที่มีผลข้างเคียง หากใช้ไม่เหมาะสม หรือในปริมาณที่ไม่ถูกต้อง ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสารอันตรายทั้งสิ้นโดยจะมีการให้เจ้าหน้าที่ของเราลงไปดำเนินการเก็บตัวอย่างหัวเชื้อผิวขาวตัวนี้มาตรวจสอบต่อไป”
ภก.สมชาย กล่าวต่อว่า อยากแจ้งเตือนประชาชนว่าให้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ร้านค้าที่มีความหน้าเชื่อถือ การซื้อจากในอินเตอร์เน็ตหรือร้านค้าแผงลอยนั้นอาจจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารอันตรายปนอยู่ อีกทั้งเมื่อซื้อหาผ่านโซเซี่ยลแล้วอาจจะมีแหล่งผลิตที่ไม่ชัดเจน เมื่อพบปัญหาก็ไม่สามารถตามเอาผิดได้ การโฆษณาผ่านโซเซี่ยลว่ามีผิวที่ขาวขึ้นนั้นก็สามารถตกแต่งรูปเพื่อหลอกลวงประชาชนได้ ที่สำคัญให้ดูผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเป็นภาษาไทยชัดเจน มีเลขที่จดแจ้งระบุ มีชื่อผลิตภัณฑ์ วิธีใช้ แหล่งผลิต และส่วนประกอบ จึงจะถือเป็นฉลากที่ถูกต้องและหากประชาชนสงสัยว่ามีเลขที่จดแจ้งจริงหรือไม่ก็สามารถตรวจสอบได้ที่ สมาร์ท แอปพลิเคชั่น หรือโทรร้องเรียน อย. สายด่วน 1556
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : ข่าวสด
รับตรวจสารอันตรายในเครื่องสำอาง หากพบเห็นหรือผลิตภัณฑ์ใส่สารอันตราย ส่งตรวจสารและร้องเรียนได้ที่ : สสนส.สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมด้านสุขภาพ