อย.เตือน ยาเถื่อนอ้างรักษาโรคสะเก็ดเงิน

พบการโฆษณาขายยารักษาโรคสะเก็ดเงินผ่านทางเฟซบุ๊ก ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และนำเข้ามาจาก ประเทศเพื่อนบ้าน จำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต อย. เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อยาผ่านเน็ต ควรปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกร เพื่อให้ใช้ยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเรียน อย. ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินให้ตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์ยารักษา “โรคสะเก็ดเงิน” ที่มีการโฆษณาเกินจริงทางเฟซบุ๊ก ในกลุ่มเครือข่ายสังคมออนไลน์ ว่า ยาดังกล่าวมีสรรพคุณรักษาโรคสะเก็ดเงินได้ แต่ไม่มีทะเบียน นำเข้ามาจากประเทศลาว โดยไม่ได้รับอนุญาต ลักษณะเป็นเนื้อครีมสีน้ำตาลแดง อาจมีสเตียรอยด์ปนเปื้อน และมีผู้คนหลงเชื่อซื้อไปใช้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูล พบเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการขายยา ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท ผลิต นำเข้าขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 5 ปี ผลิต นำเข้า หรือขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคเรื้อรังทางผิวหนัง มีลักษณะเป็นผื่นแบบเป็นขุยหรือสะเก็ด ขึ้นตามร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ศอก เข่า สะโพก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางรายอาจเป็นมากที่แผ่นหลังจนถึงสะโพก หรือบางรายอาจเป็นผื่นไปทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ขอย้ำว่า การขายยาต่างๆ ทางเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ซึ่ง อย. มีการตรวจสอบโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาทางสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หากพบการกระทำผิดจะดำเนินคดีตามกฎหมาย

“เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อยาผ่านทางเว็บไซต์หรือโซเชียล มักจะตรวจพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน โดยเฉพาะยาที่ไม่มีทะเบียน ไม่ผ่านการรับรองจาก อย. เป็นยาผิดกฎหมาย ผู้บริโภคอาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายโดยคาดไม่ถึง หากผู้บริโภคพบเห็นพฤติกรรมการขายยาดังกล่าวขอให้แจ้งได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียน อย. ผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกร เพื่อให้ใช้ยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

รับตรวจสารอันตรายในเครื่องสำอาง หากพบเห็นหรือผลิตภัณฑ์ใส่สารอันตราย ส่งตรวจสารและร้องเรียนได้ที่ : สสนส.สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมด้านสุขภาพ

[cv]