เลข อย. จดง่าย

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากยังจำกันได้การจะขอจดแจ้งเลข อย.บนผลิตภัณฑ์สุขภาพ มักจะประสบปัญหาความล่าช้า ใช้ระยะเวลานาน มีขั้นตอนมาก หรือมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ถึงขนาดที่ว่ากลุ่ม SME ร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐให้ปรับปรุงระเบียบ วิธีปฏิบัติงานให้มีความสะดวกมากขึ้น

และทางภาครัฐเองก็ตอบสนองโจทย์ใหญ่นี้ วางนโยบายช่วยเหลือกลุ่ม SME ให้มีความสะดวกมากขึ้น โดยมุ่งหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบาย E-Government 4.0 ด้วยการคิดค้นระบบจดแจ้งผ่านทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม. ไม่จำกัดจำนวน

จากเดิมที่เจ้าหน้าที่จะพิจารณารายละเอียดทั้งหมด ตั้งแต่คำที่ใช้เป็นชื่อการค้า ชื่อเครื่องสำอาง ประเภท ตลอดจนสารที่ใช้เป็นส่วนผสม ว่ามีความสอดคล้องกัน และไม่ขัดกับกฎหมาย จึงจะออกใบรับแจ้งให้ แต่เมื่อใช้ระบบรับจดแจ้งอัตโนมัติ หากผู้ประกอบการส่งรายละเอียดคำขอจดแจ้งเข้ามาได้ครบถ้วน ระบบจะประมวลผลเช็กรายการสารต้องห้าม และส่งให้เจ้าหน้าที่พิจารณา โดยจะใช้เวลา 3 วันทำการก็จะได้รับคำตอบ


น.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
 ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสามารถขอ อย.โดยผ่านระบบ E- Submission การขอเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ออนไลน์ จะไม่มีการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็ได้เลขแล้ว โดยที่แหล่งผลิตทั้งหลาย อย.ไม่ได้ตรวจสอบ จึงทำให้เกิดปัญหา

ทั้งนี้ ระบบ E-Submission การขอเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ออนไลน์ เป็นการสนองนโยบายของผู้บริหารระดับประเทศ เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจเติบโต จึงตั้ง E-Government 4.0 ขึ้นมา โดยให้ทุกหน่วยงานในประเทศไทยจะต้องเข้าระบบ 4.0

สำหรับผลการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเก็บข้อมูลปีงบประมาณ 59 เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. 58-ก.ย. 59 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชนทั้งหมด 44 จังหวัด ผลปรากฏว่า…

อันดับ 1 อาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การโฆษณาผิดกฎหมายเกี่ยวกับอาหาร อาหารปลอม อาหารไม่ปลอดภัย
อันดับ 2 ยา
อันดับ 3 เครื่องสำอาง

และได้ทำแบบสอบถามเพื่อพัฒนาการกำกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง 16 ม.ค.-24 ก.พ. 61 ในหัวข้อ‘เหตุผลในการเลือกซื้อทางออนไลน์’ พบว่า…

อันดับ 1 โฆษณาจูงใจ มีพรีเซ็นเตอร์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เมื่อใช้แล้วอาจจะได้ผลเหมือนอย่างโฆษณา
อันดับ 2 โลโก้ อย.บนตัวผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคจึงมั่นใจว่า หากมี อย.แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ปลอดภัย
อันดับ 3 ความสะดวก
อันดับ 4 อยากลอง

ส่วน ‘ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สั่งซื้อออนไลน์มากที่สุด’ พบว่า…

อันดับ 1 เครื่องสำอาง
อันดับ 2 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ประเภท ลดน้ำหนัก ผิวขาวใส
อันดับ 3 ของกินทั่วไป
อันดับ 4 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ประเภท รักษาโรค บำรุงร่างกาย

สถิติการซื้อของออนไลน์อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามเรื่องการเข้าถึงคลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพ พบว่า ผู้บริโภคไทยมีความต้องการให้ อย.เปิดให้เข้าถึงคลังข้อมูลมากถึง 98% ซึ่งเมื่อเปิดให้เข้าถึงทุกภาคส่วนจะได้รับผลประโยชน์ตรงนี้ ตรวจเช็ค ช่วยกันดูแล

7.4 แสนตำรับ! เครื่องสำอางในไทยมากสุดในอาเซียน

สำหรับในส่วนของสำนักคณะกรรมการอาหารและยานั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับการเปิดเผยจาก นางนฤภา วงศ์ปิยะรัตนกุล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย อย. ถึงตัวเลขเครื่องสำอางที่ได้รับจดแจ้งในระบบฐานข้อมูลเครื่องสำอาง ที่มีเลข อย.แล้ว โดยตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันมีประมาณ 740,000 ตำรับ ถือว่ามากที่สุดในประเทศอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอาง โดยปีที่จดแจ้งเยอะ คือ ปี 59-60 ที่เปิดระบบใหม่ให้พิจารณาได้รวดเร็วมากขึ้น

กฏหมายใหม่ ผลิต นำเข้า ต้องแจ้ง อย.ก่อน แต่ไม่ต้องตรวจผลิตภัณฑ์

นางนฤภา เผยว่า กฎหมายฉบับเดิม กำหนดว่าเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ จะต้องขึ้นทะเบียนและตรวจสถานที่ผลิต สถานที่นำเข้าก่อน ส่วนเครื่องสำอางอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ คือ เครื่องสำอางควบคุม และเครื่องสำอางทั่วไป ไม่ได้กำหนดต้องไปตรวจสถานที่ก่อน แต่ต้องมาแจ้งรายละเอียดกับทาง อย.

ส่วนกฎหมายใหม่ การผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางจะต้องจดแจ้งรายละเอียดข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่อภาครัฐก่อน และบังคับให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดในเรื่องของสถานที่ ซึ่งหลักเกณฑ์ตรงนี้อยู่ระหว่างให้รัฐมนตรีลงนาม จะให้เป็นสัดส่วน เข้าตามเกณฑ์ มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ (GMP)

“เมืองไทยทำข้อตกลงกับอาเซียนตั้งแต่ปี 2546 จากเดิมเครื่องสำอางที่แยกเป็น 3 ประเภท เปลี่ยนเป็นเครื่องสำอางหมวดเดียว คือ เครื่องสำอางจดแจ้ง โดยพัฒนาระบบจดแจ้งมาตั้งแต่ปี 51 ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้า เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จนเป็นระบบ E-Summission โดยไม่จำเป็นต้องมีผลิตภัณฑ์มาให้ อย.ตรวจสอบ ยกเว้นแต่ว่า เข้าข่ายสงสัยว่าอยู่กึ่งๆ เครื่องสำอาง หรือว่าเป็นยา หรือเป็นเครื่องมือแพทย์ เจ้าหน้าที่จะร้องขอให้แนบภาพถ่ายหรือส่งมอบตัวอย่างมาประกอบพิจารณา” ผอ.สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย อธิบาย

รวดเร็ว ค่าธรรมเนียมถูก เปิดหลักเกณฑ์พิจารณาใบอนุญาต อย.

ผอ.สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กล่าวต่อว่า เดิมทีผู้ประกอบการจะต้องจัดเตรียมเอกสาร และเดินทางมาที่ อย.เพื่อยื่นคำขอ ซึ่งมีคิวแน่นมากจนไม่ได้รับความสะดวก และระบบเก่าไม่สามารถเช็กรายการสารต้องห้ามได้ พิจารณาชื่อที่ห้ามใช้ไม่ได้ ทาง อย.จึงหาช่องทางเพิ่มให้โดยไม่ต้องเข้ามาที่ อย.แล้ว ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะยื่นคำขอผ่านอินเทอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชม. ไม่มีวันหยุด และระบบสามารถกรองสารต้องห้ามได้ โดยสามารถตรวจสอบ ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ.2559 ได้

E-Submission ปลดล็อกเครื่องสำอางวันละ 300 รายการ

นางนฤภา เผยว่า ในแต่ละวันจะมีผู้ประกอบการทั่วประเทศคีย์คำขอเข้ามาประมาณวันละ 500-600 คำขอ โดยที่เจ้าหน้าที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ ซึ่งจะมีคำตอบกลับไปยังผู้ประกอบการว่าอนุมัติหรือไม่อนุมัติ อย่างไรก็ตาม จะมีเครื่องสำอางผ่านการจดแจ้งได้เลขที่ อย. วันละ 300-400 รายการ หรือราว 80% จากจำนวนคำขอในแต่ละวัน

ทั้งนี้ ระบบจะรันอัตโนมัติ หากผ่านจะเข้าสู่สเตปของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูว่าตรงตามกฎหมายหรือไม่ ทั้งชื่อเครื่องสำอางโอ้อวดเกินจริงหรือไม่ หรือสารห้ามใช้ต่างๆ ด้วย

ส่วนหากผู้ประกอบการบางรายใช้ช่องโหว่ของระบบ E-Submission โดยการไม่กรอกข้อมูลสารต้องห้ามลงในระบบ ต่อมา ผ่านการจดแจ้ง แต่ อย.ยังมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเลขรับแจ้ง เพื่อส่งให้ฝ่ายกับดูแลหลังออกสู่ตลาดไปตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบปรากฏว่าผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องสำอาง 2558จะถูกระงับเลข อย.และมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นางนฤภา กล่าวต่อว่า ข้อมูลล่าสุดในประเทศไทยมีจำนวนผู้ผลิตเครื่องสำอางประมาณ 10,000 กว่าราย ผู้นำเข้า 3,000 กว่าราย ตรวจโรงงานแต่ละปี 1,000 กว่าโรงงาน และสถานประกอบการที่ได้รับรองมาตรฐาน GMP เครื่องสำอางอีก 183 โรง ไม่รวมของต่างจังหวัดที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้ตรวจสอบ

ทั้งนี้ หลังจากผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผ่านการจดแจ้งจาก อย.แล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลหลังออกสู่ตลาด โดยจะสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยงที่ใช้กับผิวกาย ผิวหน้า เส้นผมประเภทไม่ต้องล้างออก โดยจะเช็กข้อมูลว่า มีการหลุดจดแจ้งหรือไม่ จากการสุ่มคีย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องล้างออก ลิปออน เส้นผม หรือชื่อเครื่องสำอางที่มีความล่อแหลมและหลุดไป หรือมีคนร้องเรียนมาว่า สถานที่นี้ไม่มีตัวตน โอ้อวดสรรพคุณ หรือใช้แล้วมีอาการแพ้ เจ้าหน้าที่จะเช็กข้อมูลและไปสุ่มตรวจสอบ

“ปีที่ผ่านมา เราสุ่มตรวจโรงงานไป 1,000 กว่าแห่ง และส่วนของปีนี้กำลังตรวจสอบเป็นระยะๆ โดยมีทั้งตรวจสถานประกอบการ เก็บตัวอย่างตรวจสอบ ซึ่งหากเป็นโรงงานดั้งเดิมได้ GMP ไม่เป็นปัญหาเท่าไร เพราะว่าจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบอยู่เรื่อยๆ ยกเว้นแต่ว่าเป็นรายใหม่ หรือกลุ่มบุคคลธรรมดา บางรายขอจด 5-10 รายการ ต่อมาขยายตัวมากขึ้น จึงเป็นข้อสังเกตว่า บุคคลธรรมดาทำไมจดแจ้งหลายโปรดักส์ เป็นสิ่งที่ต้องจับตา น่าสงสัย และจะเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งมีหลักเกณฑ์อีกหลายอย่างไม่ตายตัว” ผอ.สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย อธิบายถึงการสุ่มตรวจโรงงาน

ภาพและข่าวจาก ไทยรัฐ
สถิติจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

[cv]