บุกจับอาหารสเริมเถื่อน-อุดรธานี

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน  นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์  เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) แถลงข่าวจับกุมผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายจำนวนมาก ทั้งอาหารเสริมและเครื่องสำอางภายในจังหวัดอุดรธานี มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท

นพ.วันชัย กล่าวว่า อย.ได้รับแจ้งให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพในร้านจำหน่ายอาหารชื่อ “บี.เอส.นิวเทรนด์” ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี จึงร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เข้าตรวจสอบเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตรวจพบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายรวม 35 รายการ แบ่งเป็น 1.ผลิตภัณฑ์อาหาร พบทั้งผลิตภัณฑ์อาหารปลอม มีการสวมเลขสารบบให้เข้าใจว่าได้รับอนุญาตแล้ว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ PURE SQUALENE , COLOSTRUM 1000 mg , Algal Oil DHA และ CL COLLAGEN  และผลิตภัณฑ์ที่จัดเป็นยาแผนโบราณ ได้แก่ Bao Fu Ling เพราะมีส่วนผสมที่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นยา เช่น กลูโคซามีน

ร้านขายอาหารเสริมผิดกฏหมาย-อุดรธานี
นพ.วันชัย กล่าวว่า 2.เครื่องสำอาง พบว่าไม่ได้จดแจ้ง มีทั้งที่ผลิตในประเทศและผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ บางส่วนเป็นของแท้แต่ลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายโดยไม่ได้จดแจ้งก็ถือว่ามีความผิดด้วย ได้แก่ Missha Magic Cushion , Missha Magic Cushion Moisture , The face shop CC Intense Cover Cushion , Missha Magic Cushion Cover , The face shop CC Long-Lasting Cushion , Holika Holika Lazy and Easy face 2 change photo ready cushion BB , Aprilskin Black Magic Snow Cushion , Liphop Seal The Eyebrow Powder , Lotree Rosa Davurica Powdery Cushion , Too Cool For School Mineral Baking Powder , A’Pieu Air-Fit A’Pieu Cushion , Sixteen Eye Magazine , SNP Animal Dragon Soothing Mask , V’ie Solution , Laneige Sleeping Care Good Night Kit , A’Pieu Air-Fit A’Pieu Blusher Doraemon Edition , Shiseido Spotscover S100 , V-I puro horse oil mask , Mason natural Antioxidant Beauty Cream , Madame Organic Collagen Soap , Mason natural Collagen Beauty Cream และ Timeless Hyaluronic Acid Pure

อาหารเสริมผิดกฏหมาย-อุดร

นพ.วันชัย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ยึดของกลางทั้งหมดเพื่อดำเนินคดี และส่งตรวจวิเคราะห์ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เบื้องต้นพบการกระทำความผิด คือ 1.จำหน่ายอาหารปลอม เนื่องจากแสดงฉลากเพื่อลวง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท  2.จำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท 3. ขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท  4. จำหน่ายเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ 5. จำหน่ายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และ 6. จำหน่ายเครื่องสำอางที่ฉลากมีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเครื่องสำอาง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย.อาหารเสริมผิดกฏหมาย-อุดร

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการตรวจสอบมาตรฐานโรงงานผลิตเครื่องสำอาง นพ.วันชัย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง ควบคู่ไปกับการกวาดล้างสินค้าที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจโรงงานตามจังหวัดต่างๆ ทำให้ได้รับข้อมูลและเบาะแสเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายและนำมาสู่การจับกุม เพราะส่วนใหญ่แล้วพวกที่ผลิตอย่างผิดกฎหมายจะมีการโกดังเก็บสินค้าและจำหน่ายทางออนไลน์ อย่างกรณีที่อุดรธานีก็เช่นกัน ทางตำรวจก็จะขยายผลไปยังเจ้าของและเครือข่ายต่อไป ส่วนการตรวจสอบโรงงานผลิตเครื่องสำอางว่าดำเนินการไปได้มากน้อยแค่ไหน จะมีการรวบรวมและแถลงผลงานในช่วงกลาง ก.ค.นี้ เป้นช่วงเวลาครึ่งทางก่อน และหลังดำเนินการเสร็จในเดือนสิงหาคมจะมีการสรุปผลอีกครั้งหนึ่ง

ภาพและข่าว : สำนักพิมพ์มติชน

[cv]