สารอันตรายปนเปื้อนน้ำใต้ดิน

เมื่อวันที่ 13 ส.ค.นางสุณี ปิยะพันธ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัญหาสารปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและต่อสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จนกระทั่งการปนเปื้อนนั้น ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต โดยสาเหตุหลักของปัญหาการปนเปื้อนของสารอันตรายในดินและน้ำใต้ดินมาจากกิจกรรมมนุษย์ เช่น การทิ้งของเสียและขยะมูลฝอยจากชุมชน ซึ่งหากสารอันตรายบางส่วนซึมลงตามชั้นดินจนกระทั่งถึงชั้นน้ำใต้ดินอาจปนเปื้อนไปยังบ่อที่มีการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ กรณีตัวอย่าง เช่น การปนเปื้อนโลหะหนัก และสารอินทรีย์ระเหยในดินและน้ำใต้ดินในพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง การปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยในดินและน้ำใต้ดินในพื้นที่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน การปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยง่ายและโลหะหนักบริเวณใกล้โรงงานกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม จ.ราชบุรี เป็นต้น

สารปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน
นางสุณี กล่าวต่อว่า จากปัญหาดังกล่าว คพ. ร่วมกับบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ เรื่องการบริหารจัดการการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ในการสำรวจ จัดการและแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในดินและน้ำใต้ดิน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินของประเทศไทยเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการที่เป็นสากล ซึ่งในปีนี้มีผู้แทนองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งไต้หวัน และผู้แทนคณะทำงานด้านการฟื้นฟูการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้แห่งประเทศภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้ให้เกียรติมาร่วมนำเสนอความสำเร็จของไต้หวันในการแก้ไขปัญหามลพิษในดินและน้ำใต้ดินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก.
ที่มา : สำนักข่าวเดลินิวส์

[cv]