อาหารไขมันทรานส์-อันตราย

กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงฯ เกี่ยวกับกรดไขมันทรานส์ (trans fat acid) ว่า เนื่องจากไขมันทรานส์ที่เกิดจากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

จึงให้อาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เป็นอาหารที่ ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายใน 180 วัน นับจากวันที่ 11 ก.ค. 2561 พอประกาศตัวนี้ออกมาปุ๊บ โลกของนักชิมในโซเชียลก็เกิดกระแสปั่นป่วนทันที หลายคนทวงคืนโรตีใส่นมบ้าง…ทวงคืนชานมบ้าง…แล้วสรุปว่าไขมันทรานส์มันมีโทษต่อร่างกายยังไง? แล้วอะไรที่กินได้ หรือกินไม่ได้?

อาหาร-ไขมันทรานส์

1. ไขมันทรานส์ คืออะไร?

‘กรดไขมันทรานส์‘ หรือ ไขมันพืชเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partially hydrogenated oil) เป็นไขมันที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร ช่วยให้อาหารมีอร่อย เก็บได้นาน และช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มาก

ไขมันทรานส์เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนสถานะน้ำมันพืชจากสภาพของเหลว ให้มาเป็นของกึ่งแข็ง เช่น เนยเทียมหรือมาการีน ครีมเทียม และช้อตเทนนิ่งสำหรับขนมอบ (เนยขาว) ฯลฯ ซึ่งมีการตรวจพบว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ นำไปสู่โรคต่างๆ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด เป็นต้น

ไขมันทรานส์-โดนัท

2. โดนัท ควรหลีกเลี่ยง

โดนัทบางเจ้าก็กินได้นะ ไม่มีการปนเปื้อนของไขมันทรานส์ เพราะในกระบวนการผลิตใช้น้ำมันที่มีการเติมไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์ แต่โดนัทเจ้าดังบางเจ้า ก็ยังพบว่ามีการปนเปื้อนของไขมันทรานส์อยู่!

ถ้าผู้บริโภคไม่แน่ใจว่าเจ้าไหนที่อันตรายบ้าง แนะนำว่าให้ลด หลีกเลี่ยง การรับประทานโดนัทช่วงนี้ไปก่อน รอดูอีกทีหลังจาก 180 วัน พอเขาจำกัดผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนออกไป ทีนี้ก็กินได้สบายใจ แต่ยังไงก็ไม่ควรกินเยอะเกินไป เพราะเป็นขนมที่มีไขมันอิ่มตัวสูงและน้ำตาลสูง

ไขมันทรานส์-เค้กและพาย
3. ขนมเค้ก พาย คุกกี้ 

นอกจากนี้ก็ยังมีพวกขนมอบต่างๆ เช่น ขนมเค้ก พาย คุกกี้ แป้งพิซซ่า ครัวซองต์ ฯลฯ ร้านค้าตามห้างส่วนใหญ่ ที่มีการผลิตครั้งละมากๆ ยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนไขมันทรานส์ เพราะเท่าที่ติดตามข้อมูลมา พบว่ายังมีการใช้เนยเทียมหรือมาการีน วิปปิ้งครีม และช้อตเทนนิ่ง (เนยขาว) ในการทำขนม ซึ่งของกินเหล่านี้จะทำให้คุณรับไขมันทรานส์ไปเต็มๆ ควรหลีกเลี่ยง

ไขมันทรานส์-ครีมเทียม

4. ครีมเทียม 

มีข้อมูลระบุว่า 1 ใน 3 ส่วนของส่วนประกอบใน ครีมเทียม คือ ไขมัน และน้ำเชื่อมกลูโคส ส่วนประกอบอื่นก็เป็นพวกสารเคมีในการแต่งกลิ่น และสี มีสารป้องกันการเกาะตัวเป็นก้อนโปรตีนนม

ไขมันในครีมเทียมนั่นแหละที่เป็น ‘ไขมันทรานส์‘ ซึ่งเป็นไขมันตัวร้ายที่อาจก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ ตามมา เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่นิยมเติมในเครื่องดื่มต่างๆ ที่คนไทยชื่นชอบ เช่น กาแฟเย็น นมเย็น ชาเย็น ชานมไข่มุก ฯลฯ ควรหลีกเลี่ยงครีมเทียมแล้วหันมาใช้ ‘นมสด’ ทดแทนจะดีที่สุด

ไขมันทรานส์-นมข้นหวาน

5. นมข้นหวาน นมข้นจืด

หลายคนกลัวว่า นมข้นหวาน ก็จะมี ‘ไขมันทรานส์‘ ซ่อนอยู่ อัพเดต! ล่าสุด…มีผู้ประกอบการที่ผลิตนมข้นหวาน เนยเทียม หลายๆ เจ้า เริ่มออกมาประกาศแล้วว่า สินค้าของพวกเขาไม่มีน้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ไม่กระทบกับข้อกฎหมายนี้ เช่น นมข้นหวานมะลิ มาร์การีนเบสฟู้ด เป็นต้น

ยินดีด้วยกับการทวงคืนโรตีใส่นมข้นหวาน! แต่ยี่ห้ออื่นๆ ก็ต้องติดตามกันต่อไป ยังไงก็ต้องเลือกให้ดีก่อนกินนะจ๊ะ

ส่วนนมข้นจืดก็เหมือนกัน หากเจ้าไหนมีกระบวนการผลิตที่ดี ไม่มีไขมันทรานส์มาปนเปื้อน ก็สามารถกินได้ต่อไป แต่ถ้าเจ้าไหนยังมีไขมันทรานส์ปนเปื้อนก็ต้องหลีกเลี่ยง

ไขมันทรานส์-อาหารทอด

6. ไก่ทอด เฟรนช์ฟราย ป๊อปคอร์น

ส่วนของทอดต่างๆ เช่น ไก่ทอด เฟรนช์ฟราย หากทอดแบบ Deep Fried ในความร้อนสูง ใช้น้ำมันทอดซ้ำๆ หลายครั้ง อันนี้ก็จะมีไขมันทรานส์ปนเปื้อนได้ และยังพ่วงด้วยสารก่อมะเร็งด้วย ส่วนพวกป๊อปคอร์น มันฝรั่งทอด ที่ใช้เนยเทียมหรือมาการีน มาใช้อบใช้ทอด ก็ยิ่งจะมีไขมันทรานส์มากไปอีก ให้หลีกเลี่ยงไปซะ ถ้าอยากกินป๊อปคอร์นจริงๆ แนะนำว่าใช้เนยแท้สดๆ มาคั่วอบแทน

ไขมันทรานส์-น้ำมันพืช

7. น้ำมันพืช กินได้

สำหรับน้ำมันพืชบรรจุขวดต่างๆ ก็ยังรับประทานได้ ไม่มีปัญหา มีหลายคนอาจเข้าใจกันผิดว่า น้ำมันพืชบรรจุขวดก็เป็นไขมันทรานส์ ซึ่งไม่จริง! น้ำมันพืชบรรจุขวดไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องไขมันทรานส์ ที่เห็นข้างขวดน้ำมันว่าเป็นน้ำมันผ่านกรรมวิธีเนี่ย เป็นเรื่องกรรมวิธีการกลั่นน้ำมัน แล้วก็ไม่ได้เอามาเติมไฮโดรเจนเพื่อกันหืนแต่อย่างใด

แต่หากใช้น้ำมันพืชไปทอดผ่านความร้อนสูง ซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง จะเกิดไขมันทรานส์ขึ้นจริง! แต่ปริมาณน้อยมากๆ น้อยกว่าที่เราได้รับจากไขมันทรานส์ตามธรรมชาติเสียอีก ดังนั้นถ้าเอามาใช้ทำอาหารแค่ครั้งเดียว ก็ไม่ต้องกลัวอะไร (ที่ห้ามเอามาทอดซ้ำบ่อยๆ คือกลัวเรื่องสารก่อมะเร็งต่างหาก ทำให้คนหันไปกินน้ำมันหมู ซึ่งแย่เข้าไปใหญ่)

อันตรายจากไขมันทรานส์

แถมท้าย…ข้อควรรู้ ไขมันทรานส์

ก่อนหน้านี้มีกระแสรณรงค์ต่อต้านไขมันทรานส์มาสักพัก โดยมีข้อจำกัดว่าในอาหารจะมีปริมาณไขมันทรานส์ได้เพียงเล็กน้อยตามมาตรฐาน แต่ก็ยังมีช่องว่างในการหลบเลี่ยง ตรงที่ผู้ผลิตหันไปใช้ช่องโหว่เรื่อง “ไขมันทรานส์ 0 กรัม” แทน

เนื่องจากถ้าในอาหารนั้น ถึงจะมีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และน่าจะมีไขมันทรานส์มาด้วย แต่ถ้ามีปริมาณน้อยกว่าตามที่แต่ละประเทศกำหนด ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ก็มีสิทธิเขียนได้ว่า 0 gram trans fat ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ว่าเป็น 0% คือไม่มีอยู่เลย (แต่จริงๆ คือ ไม่ใช่! ยังไงก็ยังมีปนเปื้อนอยู่)

ตอนนี้พอมีประกาศใหม่ของ ก.สาธารณสุข ออกมา ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถใช้ช่องโหว่นั้นได้อีกต่อไป!

นั่นคือ ห้ามทั้งผลิต ทั้งจำหน่าย อาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน แม้แต่เล็กน้อยก็ไม่ได้! ซึ่งดีต่อผู้บริโภคที่จะไม่ต้องคอยดูที่ฉลากให้ชัดเจนอีกต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณจะหลีกเลี่ยงหรืองดผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันทรานส์ออกไปแล้ว แต่ถ้ายังกินอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง ก็ทำให้สุขภาพแย่ เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บอยู่ดี ฉะนั้นรับประทานแต่น้อยพอหายอยากดีที่สุด.

ที่มา : ไทยรัฐ

[cv]